สำหรับหลายๆ คนที่มีประสบการณ์การใช้รถมานานพอสมควร เมื่อจะซื้อรถใหม่สักคัน รถเก่าค้างสต็อก ( รถค้างสต็อก ) หรือรถที่เพิ่งตกรุ่นไปอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถต่อรองส่วนลดได้มากเนื่องจาก บรรดาดีลเลอร์ต่าง ก็อย่างขายรถที่จอดค้างอยู่หรือรถตกรุ่นออกไปทั้งนั้น แต่สำหรับคนที่ซื้อรถคันแรกรวมทั้ง ผู้ซื้อรถจำนวนมาก เมื่อจะซื้อรถสักคันก็อยากได้ของที่สดใหม่ ประเภทที่เรียกว่าเพิ่งออกมาจากโรงงาน ไม่กี่วันก่อนรับรถยิ่งดี จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ารถที่กำลังจะรับนั้นเป็นรถใหม่ หรือถึงจะไม่ใช่รถที่เพิ่งออกมาจาก โรงงานใหม่ๆ แต่ก็ไม่ใช่รถค้างสต็อกที่จอดรอผู้ซื้ออยู่ที่ดีลเลอร์มานานข้ามปี
เพื่อความสบายใจของผู้ซื้อว่าได้รถที่ใหม่จริงๆ ไม่ใช่รถค้างสต็อกมีหลายจุดที่ผู้ซื้อรถสามารถดู เพื่อที่จะรู้หรือประเมินช่วงเวลาการผลิตคันที่ได้รับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อรถควรดูก่อนที่จะเริ่มตรวจเช็กเรื่องอื่นๆ ตามคำแนะนำเมื่อจะรับรถใหม่
ดูโฉมของรถ
เป็นปกติที่เมื่อผลิตรถรุ่นหนึ่งออกมา ผู้ผลิตรถยนต์มักจะมีการปรับโฉมหลายครั้งก่อนการเปลี่ยนโฉมใหม่ ซึ่งบางครั้งเป็นการปรับโฉมเล็กๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างบริเวณกันชนหน้า ไฟหน้า กระจังหน้าหรือเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไป ซึ่งการเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้บางครั้งผู้ที่ไม่ได้ติดตามเรื่อง รถยนต์อาจไม่รู้ถ้าไม่สังเกตให้ดี ดังนั้นเมื่อซื้อรถจึงควรดูว่ารถรุ่นปีที่ซื้อมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และเมื่อรับรถก็ควรดูว่ารถที่ได้มีรูปลักษณ์ตรงกับรุ่นปีที่ซื้อ เพื่อป้องกันการได้รถรุ่นปีเก่ากว่า ซึ่งอาจเป็นรุ่นก่อน ปรับโฉม อย่างในกรณีที่มีข่าวเมื่อปีที่แล้วว่าดีลเลอร์ขายรถเอสยูวีรุ่นเก่ากว่าปีที่ซื้อถึง 4 ปีให้ลูกค้า
เพลตรถ
ตามปกติเพลตรถจะเป็นจุดที่บอกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับรถคันนั้นซึ่งรวมไปถึงช่วงเวลาที่รถผลิตด้วย โดยเพลตรถจะมีอยู่สองที่คือในบริเวณห้องเครื่องหรือข้างประตูรถ ซึ่งบางผู้ผลิตรถยนต์จะมีการระบุเดือนและปีที่ผลิตรถเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีอีกหลายผู้ผลิตที่ไม่ระบุไว้ แต่จะดูได้จากรหัสตัวถังหรือ VIN Code 17 หลักของรถ ซึ่งตัวหนังสือหรือตัวเลขหลักที่ 10 จะเป็นสิ่งระบุถึงปีที่ผลิตรถยนต์
สำหรับรหัสหลักที่ 10 ในรหัสตัวถังจะเริ่มใช้ตั้งแต่ตัว A แทนปี 1980 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มใช้รหัสตัวถัง 17 หลัก แล้วไล่มาจนถึงตัว Y แทนปี 2000 จากนั้นจึงใช้เลข 1 แทนปี 2001 จนถึงเลข 9 แทนที่ 2009 แล้วจึงกลับไปใช้ตัว A อีกครั้งกับรถที่ผลิตปี 2010 แล้วไล่ตัวอักษรมาเรื่อยๆ จนถึงปีปัจจุบัน ซึ่งหากซื้อรถใหม่ที่ผลิตในปี 2020 ตัวอักษรหลักที่ 10 จะเป็น K หรืออาจเป็นตัว L หากไม่มีการใช้ตัว I
อย่างไรก็ตามสิ่งที่บอกในเลขตัวถังเป็นเพียงแค่ปีที่ผลิตเท่านั้น หากอยากรู้ช่วงเวลาที่ผลิตของปีคงต้องดูเวลา ที่ผลิตส่วนอื่นๆ ของรถประกอบด้วย
เข็มขัดนิรภัย
เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์จะมีแผ่นป้ายสีขาวที่ระบุรายละเอียดของเข็มขัดนิรภัยไว้ทั้งผู้ผลิตและระยะเวลาที่ผลิต ซึ่งนี่เป็นอีกจุดที่สามารถดูได้ง่ายว่ารถนั้นผลิตปีใด เพราะหากแผ่นป้ายนี้ระบุการผลิตเข็มขัดนิรภัย ในปีเดียวกับที่ซื้อรถแสดงว่า รถคันนั้นไม่ได้เป็นรถสต็อกเก่าจอดค้างอยู่ที่ดีลเลอร์นานข้ามปีแน่ และหากแผ่นป้ายนั้นระบุเดือนการผลิตที่ใกล้เคียงกับเดือน ที่รับรถก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่าเป็นรถที่ถูกผลิต ออกมาจากโรงงานไม่นาน
ยาง
ที่ยางรถยนต์จะมีตัวเลขที่ระบุถึงการผลิตยางนั้นอยู่ ดังนั้นสามารถใช้เป็นสิ่งที่อ้างอิงเกี่ยวกับระยะเวลาการผลิต รถคันนั้นได้ โดยเลขที่ระบุการผลิตยางจะเป็นเลข 4 ตัวเรียงกันในบริเวณใกล้ๆ กับขอบล้อ ซึ่งตัวเลข 2 ตัวแรกจะบอกสัปดาห์ที่ผลิตส่วน 2 ตัวหลังบอกปีที่ผลิต เช่น 0420 แสดงว่ายางนั้นถูกผลิตสัปดาห์ที่ 4 ของปี 2020
สนิม พลาสติก และขอบยางต่างๆ
อีกสิ่งที่สามารถใช้ดูประกอบว่าเป็นรถเก่าค้างสต็อกหรือไม่คือการเกิดสนิมบริเวณต่างๆ ของรถ เพราะถ้าเป็นรถในสต็อกที่จอดไม่ดีตากแดดตากฝนไว้ รวมไปถึงรถที่นำไปจอดโชว์เวลาจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขายต่างๆ ซึ่งมีโอกาสเจอแดดและฝนได้ไม่แพ้กัน ก็อาจจะมีสนิมเกิดขึ้นกับบางส่วนของรถ หรือส่วนที่เป็นพลาสติกและขอบยางต่างๆ อาจมีการกรอบหรือชำรุดให้เห็น
ที่มา : GRANDPRIX ONLINE
|